โรคไข้หวัดนก บทความ โรคไข้หวัดนก

11 ม.ค. 65
ทุก ๆ ปี เราจะได้ยินข่าวโรคไข้หวัดนกระบาดในหลายประเทศ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทยก็เคยมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกเสียชีวิตมาแล้ว ทำให้หลายคนเกิดความวิตกกังวลว่า ไข้หวัดนก จะกลับมาคร่าชีวิตคนไทยอีกหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันตัว และเตรียมรับมือ ลองไปรู้จักโรคไข้หวัดนกกันให้มากกว่านี้
 
  รู้จัก ไข้หวัดนก

โรค ไข้หวัดนก (Bird Flu) หรือโรคไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก (Avian Influenza) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (Avian Influenza Type A) แบ่งออกได้เป็น ไข้หวัดนก ชนิดรุนแรง และ ไข้หวัดนก ชนิดไม่รุนแรง สายพันธุ์ที่มักจะทำให้เกิดโรคในนกและมีความรุนแรงได้แก่ สายพันธุ์ H5 และ H7 ซึ่งเชื้อนี้สามารถแพร่ระบาดกันได้ในหมู่สัตว์ปีกทุกชนิด มีระยะการฟักตัวเฉลี่ย 3 - 5 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน หากเชื้อโรคติดต่อสู่คนจะมีระยะฟักตัวประมาณ 1-3 วัน โดยทั่วไปเชื้อ ไข้หวัดนก นี้มักระบาดในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส

การแพร่ระบาดของโรค ไข้หวัดนก
ในสมัยก่อนเชื้อ ไข้หวัดนก จะแพร่ระบาดกันในหมู่สัตว์ปีกเท่านั้น เพราะสัตว์ปีกทุกชนิดจะไวต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ โดยพบการระบาดครั้งแรกที่ประเทศอิตาลีเมื่อร้อยกว่าปีก่อน จากนั้นจึงมีรายงานว่าเกิดการแพร่ระบาดของ ไข้หวัดนก ในหมู่สัตว์ปีกตามที่ต่างๆ ทั่วโลก

แต่ในระยะหลังเชื้อเหล่านี้เกิดการกลายพันธุ์ และแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมกัน จนเกิดเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และสามารถติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ โดยพบการติดต่อ ไข้หวัดนก จากสัตว์สู่คนเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.2540 ที่ฮ่องกง จากเชื้อไวรัส H5N1 ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ก่อนจะพบการแพร่ระบาดของ ไข้หวัดนก ในปีต่อๆ มาทั่วเอเชีย ทั้งจีน ไทย เวียดนาม ฯลฯ ทำให้คร่าชีวิตผู้คนไปหลายราย ขณะที่ในแถบยุโรปก็พบการแพร่ระบาดของเชื้อ ไข้หวัดนก สายพันธุ์ H9N2 และ H7N7 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเช่นกัน

กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ ไข้หวัดนก
บุคคลที่เสี่ยงจะติดเชื้อ ไข้หวัดนก นั่นคือ
  • ผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงกับสัตว์ปีก ไม่ว่าจะเป็นผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้ทำงานในฟาร์ม ผู้ชำแหละสัตว์ หรือทำลายซากสัตว์ รวมทั้งเด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ระบาด เป็นต้น
  • ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับนก ไก่ สัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย
  • ผู้ที่ไปท่องเที่ยวหรืออยู่บริเวณที่มีการระบาดของ ไข้หวัดนก
  • ผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ไข้หวัดนก หรือผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจรุนแรง

การติดต่อในกลุ่มสัตว์
พาหะของโรค ไข้หวัดนก คือ กลุ่มนกป่า เช่น นกเป็ดน้ำ เป็ดไล่ทุ่ง แต่สัตว์ปีกที่เป็นพาหะเหล่านี้จะไม่แสดงอาการให้เห็น เมื่อนกที่เป็นพาหะบินอพยพไปตามที่ต่างๆ ก็จะแพร่เชื้อโดยขับออกมาทางมูลสัตว์ ทำให้เชื้อโรคเหล่านี้แพร่ระบาดในกลุ่มสัตว์ปีก เช่น ไก่ เป็ด ที่เลี้ยงไว้ตามบ้าน และสามารถแพร่เชื้อไปยังนกอื่นๆ ตามธรรมชาติ อีกทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุกร เสือ แมว หากกินสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ ไข้หวัดนก ก็สามารถทำให้สัตว์เหล่านั้นป่วยเสียชีวิตได้

การติดต่อจากสัตว์มาสู่คน
สาเหตุที่เชื้อ ไข้หวัดนก จากสัตว์ติดต่อมาสู่คนได้นั้น ส่วนใหญ่พบว่าผู้ติดเชื้อมีประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายโดยตรง หรือสัมผัสเสมหะ สารคัดหลั่ง หรือบริโภคสัตว์ปีกที่ป่วยตาย และยังพบในผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระบาดของโรค นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้จากสัตว์อื่นๆ เช่น สุกรที่ติดเชื้อไข้หวัดนกจากสัตว์ปีก แต่ปัจจุบันยังไม่พบว่ามีการติดเชื้อจากรับประทานเนื้อสัตว์ปีกหรือกินไข่ รวมทั้งยังไม่พบการแพร่ระบาดจากคนสู่คนด้วย

อาการที่พบ
ในสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ ไข้หวัดนก จะมีไข้ ซึม ไม่กินอาหาร เหนียงบวม มีสีแดงคล้ำ มีจุดเลือดออกที่หน้าแข้ง ไอ จาม น้ำมูกไหล อาจท้องเสีย ชัก มีการระบาดในกลุ่มอย่างรุนแรงจนตายอย่างรวดเร็ว ส่วนเป็ดและห่านมักจะทนทานต่อโรค ไข้หวัดนก สูงกว่าสัตว์ปีกอื่นๆ จึงไม่ค่อยป่วยง่าย แต่ก็ยังพบว่ามีเป็ด ห่าน ป่วยตายด้วยโรค ไข้หวัดนก เมื่อปี พ.ศ.2547 ที่มีการระบาดในประเทศไทยและเวียดนาม โดยทั่วไปหากสัตว์ปีกติดเชื้อ ไข้หวัดนก แล้ว มักเสียชีวิตเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และการจะตรวจสอบว่าสัตว์ตายจากเชื้อ ไข้หวัดนก หรือไม่จะต้องผ่านการตรวจจากห้องปฏิบัติการ

ในคนที่ติดเชื้อ ไข้หวัดนก จะมีการไข้สูงมากกว่า 38 องศา หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามข้อ ไอแห้ง ตาแดง มักพบอาการปอดบวมในผู้ป่วยทุกคน ขณะที่ผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจมีอาการรุนแรง หายใจลำบาก หอบ และอาจมีอาการระบบหายใจล้มเหลวอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเสียชีวิตได้ ส่วนมากมีระยะเวลาป่วย 5-13 วัน และหากติดเชื้อ ไข้หวัดนก แล้วมีโอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ 70-80 ส่วนมากจะเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวในวันที่ 9-10 หลังมีอาการป่วย

การรักษาโรค ไข้หวัดนก
ผู้ที่ติดเชื้อ ไข้หวัดนก แล้ว สามารถรักษาโดยการให้ยาต้านไวรัส Olseltamivir หรือชื่อทางการค้าว่า Tamiflu ภายใน 48 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการป่วย และทานติดต่อกันนาน 5 วัน ร่วมกับการรักษาตามอาการ และการใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดความถี่สูง จะให้ผลการรักษาดี ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็สามารถผลิตวัคซีน ไข้หวัดนก ตัวแรกได้ เมื่อ ปี พ.ศ.2550 เช่นเดียวกับประเทศจีนที่ได้ผลิตวัคซีน ไข้หวัดนก ขึ้นและได้ทดลองใช้กับอาสาสมัคร ซึ่งยืนยันว่าได้ผลดี

การทำลายเชื้อ ไข้หวัดนก
เชื้อ ไข้หวัดนก สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้นหากต้องการปรุงอาหารจากสัตว์ปีกควรจะใช้อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป นอกจากนี้การทำความสะอาดบ้านเรือนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มน้ำยาฟอกขาวที่เจือจาง หรือผงซักฟอกก็สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ หากเป็นสถานที่เลี้ยงสัตว์เช่น ฟาร์ม โรงเรือน ควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ ประเภทคลอรีน ควอเตอรีแอมโมเนียม และกลุตาราลดีไฮด์ ทำความสะอาด

การควบคุมการระบาดของ ไข้หวัดนก ในสัตว์
  • เมื่อพบการระบาดของ ไข้หวัดนก ในสัตว์ จะต้องทำลายสัตว์ปีกทั้งหมดในฟาร์มนั้น รวมทั้งสัตว์ปีกในรอบรัศมี 1-5 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่นๆ นอกจากนั้นแล้วซากสัตว์ ไข่ หรือมูลสัตว์ก็ต้องทำลายด้วยการฝังหรือเผา ห้ามนำมารับประทานหรือนำไปทำปุ๋ยเด็ดขาด
  • ทำความสะอาดโรงเรือน และรอบบริเวณด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ
  • ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกออกนอกพื้นที่ระบาดโดยเด็ดขาด และเฝ้าระวังการติดเชื้อในพื้นที่ควบคุมรัศมี 50 กิโลเมตร
  • ห้ามนำสัตว์ปีกเข้ามาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ระบาด จนกว่าจะตรวจสอบแล้วว่าไม่พบเชื้อเป็นเวลาอย่างน้อย 21 วัน และพิจารณาแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงจากการระบาดซ้ำ
  • การควบคุมการระบาด ไข้หวัดนก ในคน

การควบคุมโรค ไข้หวัดนก ต้องทำตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2523 ซึ่งกำหนดไว้ว่าให้โรค ไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งโรคไข้หวัดใหญ่จากสัตว์ (ไข้หวัดนก) เป็นโรคที่ต้องแจ้งความ หากพบผู้ป่วยต้องสงสัย ไข้หวัดนก ให้แจ้งไปสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เพื่อเฝ้าระวังโรค และค้นหาผู้ป่วย ไข้หวัดนก ในพื้นที่โรคระบาด เมื่อพบผู้ต้องสงสัยป่วย ไข้หวัดนก จะต้องแยกผู้ป่วยออกโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ซึ่งต้องให้ผู้ป่วยได้รับยาต้านไวรัสภายใน 48 ชั่วโมง

การป้องกันการติดเชื้อ ไข้หวัดนก ในสัตว์
  • ควบคุมไม่ให้นกต่างถิ่นเข้ามาในสถานที่เลี้ยงสัตว์
  • ควรแยกขังสัตว์ที่นำเข้ามาใหม่ไว้ก่อนจนพ้นระยะฟักตัวของโรค
  • ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนยานพาหนะต่างๆ ในฟาร์ม
  • ไม่นำวัสดุอุปกรณ์จากพื้นที่แพร่ระบาดมาใช้

การป้องกันการติดเชื้อในคน
  • บริโภคอาหารที่ปรุงสุก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ หรือไข่ เพื่อให้ความร้อนได้ทำลายเชื้อเหล่านั้น
  • พยายามรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดภูมิต้านทานต่อโรค
  • หมั่นล้างมือเป็นประจำเพื่อฆ่าเชื้อโรค และสามารถป้องกันการติดเชื้อ ไข้หวัดนก ได้
  • ผู้ที่มีไข้สูง และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
  • หากต้องสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อต้องสวมเสื้อคลุมและถุงมือ และควรอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 3 ฟุต เพราะโดยปกติเชื้อไข้หวัดสามารถติดต่อทางเสมหะ การจาม หรือไอได้
  • ติดตามรับฟังข่าวการแพร่ระบาดของ ไข้หวัดนก จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด และหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าในพื้นที่นั้น
  • ช่วยกันเฝ้าระวังการระบาด ไข้หวัดนก ในสัตว์ปีกที่เลี้ยงอยู่ตามบ้าน
  • ดูแลเด็กๆ ไม่ให้ไปสัมผัสสัตว์ป่วย หรือบริเวณที่อาจปนเปื้อนเชื้อ
  • หากพบสัตว์ปีกตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมของสำนักงานเขตทุกเขต หากเป็นในต่างจังหวัดให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอและปศุสัตว์จังหวัด เทศบาล อบต.
  • ไม่ควรสัมผัสสัตว์ป่วยหรือตายด้วยมือเปล่า ควรสวมถุงมือ หรือถุงพลาสติกหนาๆ แทน
  • ต้องขุดฝังหลุมฝังสัตว์ที่ตายให้ลึกอย่างน้อย 1 เมตร หรือนำไปเผา จากนั้นให้รีบล้างมือด้วยสบู่โดยเร็วที่สุด

จะเห็นได้ว่า โรค ไข้หวัดนก นี้สามารถติดเชื้อจากสัตว์มาสู่คนได้เท่านั้น เพราะในปัจจุบันก็ยังไม่มีรายงานว่าไวรัสนี้จะติดต่อจากคนสู่คนได้ ดังนั้นเราก็วางใจได้เปลาะหนึ่งว่า หากเราไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยง และยังปฏิบัติตามข้อแนะนำในการป้องกันโรค ไข้หวัดนก โรค ไข้หวัดนก นี้ก็คงไม่สามารถเข้ามาทำอันตรายเราได้ค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- กรมควบคุมโรค
- siamhealth.net

เรียบเรียงข้อมูลโดย กระปุกดอทคอม (www.kapook.com)
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก กระทรวงสาธารณสุข